2562
ล่องใต้ไปกับแม่ 1 สุขสัญญาณ 2. อุ่นไอรัก 3. เงินเหรียญของแม่
ครูสายโหด 1 ครูสายโหด 2 ครูสายโหด 3
น้ำค้างบนหัวคางคก
ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 ตอนที่ 3 ตอนที่ 4 ตอนที่ 5 ต อนที่ 6 ตอนที่ 7 ตอนที่ 8 ตอนที่ 9 ตอนที่ 10
นิราศจันทบุรี
ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 ตอนที่ 3 ตอนที่ 4 ตอนที่ 5 ตอนที่ 6 ตอนที่ 7 ตอนที่ 8 ตอนที่ 9
นิราศนครศรีฯ
ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 ตอนที่ 3 ตอนที่ 4 ตอนที่ 5 ตอนที่ 6 ตอนที่ 7 ตอนที่ 8 ตอนที่ 9 ตอนที่ 10 ตอนที่ 11
เฉลิมรัชวชิระสมัย 2562
ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 ตอนที่ 3 ตอนที่ 4 ตอนที่ 5 ตอนที่ 6 ตอนที่ 7 ตอนที่ 8 ตอนที่ 9
กลอนร่วมสมัย
หยุด เบื่อ ตั้งสติเข้าคูหา
*************************************************************************************
2560
โกกิลาหารัก
กลอนร่วมสมัย
รักใครชอบใคร โคลงสองสุภาพ วันครูโลก ท่านผู้แทนที่เคารพ รางวัล คิดถึงท่านสืบ พระราชาฟ้าประทาน สิชล
นิราศกิโมโน
ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 ตอนที่ 3 ตอนที่ 4 ตอนที่ 5 ตอนที่ 6 ตอนที่ 7 ตอนที่ 8 ตอนที่ 9 ตอนที่ 10 ตอนที่ 11 ตอนที่ 12 ตอนที่ 13 ตอนที่ 14 ตอนที่ 15
*************************************************************************************
2559
นิราศลอนดอน
1.วิฬาร์อาวรณ์
2.ฆ่าเวลา
3.ถึงที่หมาย
4.ไบรตัน
5.รถไฟอังกฤษ
6. แฮร์รี่พอตเตอร์
7.พิพิธภัณฑ์สหราชอณาจักร
8.มัมมี่
9.ปริญญา UCL
10. seven sisters
11. พิชิตภูเขา : ลำเนาชีวิต-ลูกที่ 1
12. พิชิตภูเขา : ลำเนาชีวิต-ลูกที่ 2
13. พิชิตภูเขา : ลำเนาชีวิต-ลูกที่ 3
14. พิชิตภูเขา : ลำเนาชีวิต-ลูกที่ 4
15. พิชิตภูเขา : ลำเนาชีวิต-ลูกที่ 5
16. พิชิตภูเขา : ลำเนาชีวิต-ลูกที่ 6
17. พิชิตภูเขา : ลำเนาชีวิต-ลูกที่ 7
18. พระราชวัง บั๊คกิงแฮม
19. London eye
20. ท่องสก็อตแลนด์
21. Edinburgh Castle
22. Calton Hill
23. สุสานคนสำคัญ
24. scottish-highlands
25. พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสก็อตแลนด์
26. ลาแล้ว…ลอนดอน
มีนาคม 2557 คนเก่งหัวใจแกร่ง
กุมภาพันธ์ 2557 การเรียนรู้ที่ครูไม่ต้องสอน
ตุลาคม 2556 เกษียณอย่างมีคุณค่า อำลาอย่างภาคภูมิใจ
มุมชวนมอง ฉบับเดือนก่อนหน้านี้
พัฒนาเด็กไทยให้เก่งภาษา เพื่อความก้าวหน้าในสังคมอาเซียน (๒)
2553
กุมภาพันธ์ พ่อแม่รังแกลูก
กรกฎาคม “เครือข่ายละครยามเช้า” ก้าวที่กล้าและท้าท้าย
สิงหาคม ลูกหลานใครไม่เป็นอย่างนี้โชคดีแล้ว
2552
มีนาคม อย่าส่งลูก…สู่… นรก ในห้องเรียน
เมษายน ดูแลลูกหลานให้ดี ๆ
พฤษภาคม สหวิชาดอทคอม
มิถุนายน ภาษาไทยมีไว้เพื่อใช้หรือมีไว้เพื่อรู้
สิงหาคม เที่ยวทั่วไทย ได้ช่วยชาติ….จริงหรือ
กันยายน แฟชั่น……วิชาการ
ตุลาคม ลงมือกันเลย……..ดีไหม น้ำเสียงและถ้อยคำนำพาความรู้สึก ตัวช่วยตัวสุดท้ายของสังคมไทย
2551
พฤษภาคม เสริมภาษาต่างชาติ..อย่าตกเป็นทาสทางภาษา
มิถุนายน ภาษาดี อยู่ที่พ่อแม่
กรกฎาคม รีบปรับ…แก้ตั้งแต่เล็ก
สิงหาคม สะสมคำใหม่…..ใส่สมองลูกรัก
กันยายน ถ้อยคำภาษา…..นำพาความรู้สึก
ตุลาคม ๙ คำพ่อสอน
การเรียนรู้ที่ครูไม่ต้องสอน ณ โรงเรียนโยธินบูรณะอ่างทอง
ผู้เขียน ได้รับการประสานเป็นการส่วนตัวจาก ดร.มยุรีย์ แพร่หลาย ผู้อำนวยการโรงเรียนโยธินบูรณะอ่างทอง ให้ไปช่วยสอนวิชาภาษาไทย โดยได้รับการอนุมัติ จาก นายธวัช ศรีสว่าง ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีอ่างทอง เนื่องจากโรงเรียนโยธิน บูรณะอ่างทอง ไม่มีครูสอนวิชาภาษาไทยเพราะทางเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 5 ยังไม่ได้จัดสรรอัตรามาให้
รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่นำไปใช้กับนักเรียนโรงเรียนโยธินบูรณะอ่างทองคือ การจัดการเรียนรู้ที่ ครูไม่ต้องสอน เริ่มต้นจากการสร้างความตระหนักให้นักเรียนเห็นถึงความจำเป็นของการเรียนรู้ด้วยตนเองเพราะโรงเรียนมีครูไม่เพียงพอถ้าคอยจนกว่าจะมีครูมาสอนก็จะเรียนไม่ทันนักเรียนโรงเรียนอื่นๆ และจะทำให้เสียโอกาสต่างๆ ในอนาคต

เมื่อนักเรียนเข้าใจสถานภาพการเรียนรู้ของตนแล้วจึงแนะนำเครื่องมือที่ใช้ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ได้แก่ ทักษะการอ่าน โดยกระตุ้นให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการอ่านหนังสือและปลูกฝังค่านิยมให้นักเรียนเห็นคุณค่าของการอ่านที่ส่งผลให้ผู้มีนิสัยรักการอ่านประสบความสำเร็จในชีวิต ด้วยการยกตัวอย่าง บุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมไทย จากนั้นจึงสำรวจทักษะและสมาธิการอ่านของนักเรียนเป็นรายบุคคล และสะท้อนผลการประเมินให้นักเรียนรับรู้ความสามารถในการอ่านของตน การประเมินความสามารถด้านการอ่านทำให้นักเรียนเห็นข้อบกพร่องของตนและยอมรับที่จะพัฒนาทักษะการอ่านตามกระบวนการที่ผู้เขียนแนะนำ คือ การทำร่องรอยการอ่านเพื่อกำหนดสมาธิและวิเคราะห์สาระสำคัญในขณะอ่านแล้วนำความรู้ที่ได้จากการอ่านมาแบ่งปันประสบการณ์ผ่านการพูด การเขียน และการแสดงออก
การแก้ปัญหาขาดแคลนครูในโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็ก ที่โรงเรียนโยธินบูรณะอ่างทอง ซึ่งมีนักเรียนจำนวน 108 คน นักเรียนพิเศษเรียนร่วม 1 คน ใช้การจัดการเรียนการสอนแบบรวมระดับ คือ ม.1 – ม.3 และ ม.4 – ม.6 จากการสอนในระยะเวลา 8 สัปดาห์ พบว่า นักเรียนส่วนมากมีความกระตือรือร้นและให้ความร่วมมือในการเรียนดีมาก มีนักเรียน ม.3 เพียง 3 คน ที่ยังขาดความพร้อมใน การเรียนแต่สามารถปรับพฤติกรรมได้ในอนาคต

นักเรียนโรงเรียนโยธินบูรณะอ่างทอง 100 % กำลังได้รับการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยใช้ทักษะการอ่านเป็นพื้นฐานสำคัญนำไปสู่การเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ รวมทั้งทักษะชีวิต ทักษะทางสังคม ตามผลการเรียนรู้ มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดที่หลักสูตรกำหนด ซึ่งเป็นกระบวนการเดียวกันกับที่ใช้สอนนักเรียนโรงเรียนสตรีอ่างทอง ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนวิชาภาษาไทยพื้นฐานกับผู้เขียน
จากการประเมินผลการเรียนรู้พบว่า นักเรียนโรงเรียนโยธินบูรณะอ่างทอง กับ นักเรียนโรงเรียนสตรีอ่างทอง ที่เรียนด้วยกระบวนการเรียนรู้โดยครูไม่ต้องสอน มีพัฒนาการด้านทักษะทางภาษาไทยดีขึ้นเหมือนกัน แต่แตกต่างกันที่ นักเรียนโรงเรียนโยธินบูรณะอ่างทองมีพัฒนาการดีขึ้นชัดเจนกว่านักเรียนโรงเรียนสตรีอ่างทอง เนื่องจาก จำนวนนักเรียนในแต่ละระดับของทั้ง 2 โรงเรียนแตกต่างกันมาก โรงเรียนสตรีอ่างทองมีนักเรียนจำนวน 50 คนต่อห้อง ซึ่งมากเกินไปส่งผลให้นักเรียนได้รับการพัฒนาทักษะต่างๆไม่ทั่วถึงขณะที่โรงเรียนโยธินบูรณะอ่างทอง มีจำนวนนักเรียน ไม่เกิน 30 คน ต่อห้อง ส่งผลให้นักเรียนได้รับการพัฒนาทักษะอย่างทั่วถึงและมีเวลาในชั้นเรียนเพียงพอ
ในเวลาที่เหลือก่อนสอบปลายภาค นักเรียนโรงเรียนโยธินบูรณะอ่างทอง จะได้รับการสอนแบบอิงประสบการณ์ ด้วยการกำหนดกิจกรรมให้นักเรียนเผชิญสถานการณ์ต่างๆ ตามที่หลักสูตรกำหนด โดยใช้วรรณคดีเป็นฐาน
ผู้เขียนมีความสุขและรู้สึกสนุกสนานกับการสอนที่โรงเรียนโยธินบูรณะอ่างทอง ไม่น้อยไปกว่าที่โรงเรียนสตรีอ่างทองต่างกันตรงที่ โรงเรียนโยธินบูรณะอ่างทอง เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็กมีพื้นที่กว้างขวาง จำนวนนักเรียนไม่มาก ทำ ให้สามารถพัฒนาได้ตามกระบวนการที่ออกแบบไว้ อย่างสมบูรณ์ อุปกรณ์การเรียนและเครื่องอำนวยความสะดวกพร้อมใช้ ทั้งห้องคอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการทางภาษาและห้องโสตทัศนศึกษาที่ได้รับการบริหารจัดการโดยคณะครูจำนวน 8 คน ภายใต้การนำของ ผู้อำนวยการหญิง รุ่นใหม่ วิสัยทัศน์ดี มีความมุ่งมั่น คือ ดร.มยุรีย์ แพร่หลาย ขอให้ท่านอยู่อ่างทองไปนานๆ นะคะ
เราอยากเห็นการบริหารจัดการด้านวิชาการที่มีคุณภาพแบบนี้ได้รับการขยายผลไปยังโรงเรียนที่มีครูไม่เพียงพอในอนาคต เพื่อพัฒนาเด็กไทยให้มีค่านิยมในการอ่านที่ดี มีนิสัยใฝ่เรียน ใฝ่รู้ เพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างงามสง่าด้วยภูมิปัญญาของคนไทย
สวัสดีค่ะ
****************************
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2556
ขอบคุณสำนักงานข่าวท้องถิ่น อ่างทองนิวส์ ที่อำนวยความสะดวกให้ ตัวแทนนักเรียนทุกระดับชั้นของโรงเรียนสตรีอ่างทอง บันทึกเทป “ถวายพระพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ “
———————————————————
มุมชวนมอง ฉบับเดือน พฤศจิกายน 2556
“มุมชวนมอง” ของ ครูระพีร์ ปิยจันทร์ ใน นสพ.อ่างทองโพสต์ มาแล้วค่า ฉบับนี้ว่าด้วยเรื่อง เอะอะ !!! เอะอะ !!! ก็หมอ !!! เอะอะ !!! ก็หมอ เอ๊ะ!!! ยังไง ทำไมต้องหมอ ????? เชิญติดตาม ค่ะ
———————————————————
มุมชวนมอง ฉบับเดือน ตุลาคม 2556
เกณียณอย่างทรงค่า อำลาอย่างทรงภูมิ
นสพ.อ่างทองโพสต์ ฉบับเดือนกันยายน 2556
เด็กไทยไม่ใช่อนาคตของชาติ
วาทกรรมของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ. อ่างทอง
ส.ส. กรวีร์ ปริศนานันทกุล
เมื่อวันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2556 ส.ส.กรวีร์ หรือ “พี่แชมป์”ของนักเรียน โรงเรียนสตรีอ่างทองที่เข้ารับการอบรมเพื่อฝึกภาษาและพัฒนาภาวะผู้นำใน“ค่ายยุวประชาสัม พันธ์” ณ โรงเรียนสตรีอ่างทอง ซึ่งท่าน ส.ส. ได้ร่วมกิจกรรมในฐานะประธานในพิธีเปิดและบรรยายพิเศษมีผู้ร่วมฟัง ประมาณ 100 คน ประกอบด้วยตัวแทนนักเรียนทุกระดับชั้น คือ ม.1-ม.6 และคณะทำงาน
ในการบรรยายพิเศษนั้น “พี่แชมป์” เล่าถึงประสบการณ์บน “เส้นทางผู้นำ” ที่มีพื้นฐานมาจากการอบรมเลี้ยงดูของครอบครัวและการเป็นนักกิจกรรมของโรงเรียน โดยชี้แนะให้น้องๆ เห็นถึงความสำคัญของการเป็นสมาชิกที่ดีและมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กร ท้องถิ่น หรือบ้านเกิดของตน พร้อมทั้งเน้นย้ำให้น้องๆ ตระหนักถึงความสำคัญของเด็กว่า “เด็กไม่ใช่อนาคตของชาติ” แต่ “เด็กคือปัจจุบันของชาติ” ส.ส.แชมป์ บอกว่า “พวกน้องคือปัจจุบันของชาติ นะ น้องๆ ต้องทำปัจจุบันให้ดี เพราะถ้าปัจจุบันดี อนาคตก็จะดีเอง พี่ไม่อยากให้น้องเป็นคนดีของอนาคตเพราะมันยังอีกนาน และในบางครั้งมันก็มาไม่ถึง ดังนั้น น้องๆ ต้องเป็นปัจจุบันของชาติกันทุกคน ทำตัวเองให้ดี มีภาวะผู้นำ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีภาวะผู้นำสามารถนำพาสังคมและประเทศชาติไปในทางที่ดีได้
ช่วงเวลาประมาณ 30 นาที เด็กๆ ฟังพี่แชมป์ของเขาอย่างตั้งใจและมีส่วนร่วมในการซักถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นท่ามกลางบรรยากาศที่อบอุ่นเป็นกันเอง เด็กๆ บางคนบอกว่า “พี่แชมป์ดีนะครู หนูไม่เคยฟังพี่เขาพูดแบบนี้เลย เห็นแต่เปิดงานในพิธีการต่างๆ วันนี้ได้ฟังแล้วรู้สึกใกล้ชิดขึ้นมาหน่อย”
|
ก่อนลากลับ เด็กๆ พร้อมใจกันล้อมวง แสดงพลังความรักความสามัคคี ด้วยการ Boom ให้ ส.ส.กรวีร์ ด้วยพลังเสียงที่หนักแน่น ถ้อยคำที่ตั้งใจเรียบเรียงให้เหมาะสมกับผู้รับการบูม และจบการบูมด้วยข้อความว่า “อ่างทอง FC “อ่างทอง FC “อ่างทอง FC กรวีร์……..ปริศนานันทกุล
ส.ส.กรวีร์ ปริศนานันทกุล เป็นนักการเมืองที่มีบุคลิกภาพดี มีความอ่อนน้อมถ่อมตนบนจุดยืนที่เข้มแข็ง สังเกตจากถ้อยคำที่ใช้ ภาษากายที่แสดงออกและลีลาการพูดด้วยน้ำเสียงที่เป็นธรรมชาติในความเป็นตัวของตัวเอง เด็กๆ ค่ายนี้โชคดี ที่ได้ซึมซับตัวอย่างที่ดีจาก “ส.ส.พี่แชมป์” ของพวกเขา
“สังคมไทยขาดผู้นำ” เพราะระบบครอบครัวไทย สังคมไทยและการจัดการศึกษาของประเทศไทยให้ความสำคัญต่อการทำกิจกรรมน้อยมาก ผู้ปกครองยุคนี้เน้นเรื่องการส่งเสริมให้เด็กๆ เรียนพิเศษมากกว่าการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเล่นกีฬา การร่วมกิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้จะโทษผู้ปกครองก็ไม่ได้ เพราะระบบการศึกษาสร้างค่านิยมทางวิชาการที่มุ่งเน้นผลการเรียน ผลการเข้าศึกษาต่อมากกว่าทักษะชีวิต จึงไม่แปลกเลยที่เด็กไทยที่เป็นเด็กเรียนดีส่วนมากจะเป็นเด็กที่ “เก่งอยู่ในกล่อง เก่งในตำรา ”แต่ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความเป็นตัวของตัวเองและมีภาวะผู้นำไม่เพียงพอ
“ค่ายยุวประชาสัมพันธ์” จึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่มีส่วนในการสร้างสรรค์ผู้นำให้กับโรงเรียน ชุมชนและสังคม ในอนาคต เมื่อเด็กที่ผ่านการพัฒนาภาวะผู้นำและได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง พวกเขาก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีภาวะผู้นำ สามารถนำพาสังคมที่เขามีส่วนร่วมไปสู่ทิศทางที่ดีทั้งต่อตนเองและผู้อื่น
การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 นี้ ผู้เรียนจำเป็นต้องมีทักษะชีวิต รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมรอบตัว เราจำเป็นต้องพัฒนาเด็กไทยให้มีความพร้อมในการศึกษาเล่าเรียน มีความกล้าเผชิญปัญหาหรืออุปสรรคที่เข้ามากระทบวิถีชีวิต ประการสำคัญคือ ต้องรู้จักเรียนรู้ด้วยตนเองมากกว่าเรียนรู้ด้วยการฟังการบอกเล่าจากผู้อื่น เพราะในศตวรรษนี้ แหล่งเรียนรู้มีอยู่มากมายรอบด้าน ถ้าปัจจุบันนี้เด็กไทยไม่พร้อม ในอนาคตเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเยาวชนไทยย่อมตกอยู่ในสถานะ “เสียเปรียบ” เยาวชนจากประเทศเพื่อนบ้านแน่นอน
ผ.อ.ธวัช ศรีสว่าง ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีอ่างทอง เป็นประธานในพิธีปิด ก่อนกล่าวปิดท่านได้ให้โอวาทแก่เด็กๆ เรื่องการใช้ภาษาที่ถูกต้อง เหมาะสม การทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ตลอดจนการเพิ่มทักษะภาษาอังกฤษในการจัดค่ายครั้งต่อไป เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ค่ายยุวประชาสัมพันธ์ จัดติดต่อกันมาเป็นปีที่ 5 แล้ว และมีผลผลิตเป็นนักเรียนแกนนำ ซึ่งพัฒนาไปเป็น แกนนำนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เข้าศึกษาต่อ และพร้อมที่จะกลับมาช่วยพัฒนารุ่นน้องด้วยความเต็มใจ ซึ่งค่ายนี้ ไม่ใช้วิทยากรภายนอก เพราะเรามี พี่มาสอนน้อง เรามีเพื่อนที่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกันได้ เป็นค่ายที่เด็กพัฒนาเด็กด้วยกันเอง หากโรงเรียนใด หรือองค์กรใดมีความประสงค์จะศึกษากระบวนการ”ฝึกภาษาและพัฒนาภาวะผู้นำ” เพื่อสร้างเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ให้แก่เยาวชนในท้องถิ่นของท่าน คณะผู้จัดทำค่ายพร้อมเสมอที่จะให้คำแนะนำด้วยความยินดียิ่ง
ช่วยกันนะคะท่านผู้ใหญ่ใจดีทั้งหลาย อย่าละเลยการพัฒนาเด็กให้เป็นเด็กดีในปัจจุบัน ดังที่ ส.ส.กรวีร์ ท่านได้กล่าวไว้ว่า “เราต้องทำเด็กให้ดีในปัจจุบัน เพราะเด็กคือปัจจุบันของชาติ”
พิธีปิดค่ายยุวประชาสัมพันธ์ เป็นไปด้วยความอบอุ่น รักใคร่ กลมเกลียว ผูกพันและคำมั่นสัญญาที่จะกลับมาพบกันอีก สัญญาว่าจะพัฒนาตนเอง สัญญาว่าจะเป็นนักประชาสัมพันธ์ที่ดี ของโรงเรียนและของจังหวัดอ่างทอง
จังหวัดอ่างทอง ของเรา ยังมีจำนวนผู้นำที่มีคุณภาพไม่เพียงพอต่อการพัฒนาในทุกองค์กร ผู้นำที่มีอยู่หลายท่าน ควรปรับเปลี่ยนตัวเองให้เหมาะสม สอดคล้อง กับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไปเพื่อไม่ให้เกิด “แรงเสียดทาน” ต่อ “ความล้าสมัยของท่าน” ผู้นำบางท่านเป็น “คนเก่งในโลกเก่า” ซึ่งหากปรับตัวได้ก็ดีไป แต่หากปรับตัวไม่ได้ ก็จะก่อให้เกิดทุกข์ในที่ทำงานทั้งผู้นำและผู้ตาม และที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือ ผู้นำที่ มองตัวเองไม่ออก บอกตัวเองไม่ได้ แก้ไขตัวเองไม่เป็น ผู้นำเหล่านี้จะมีภาพลักษณ์ที่น่าสงสาร น่าเห็นใจมาก ไปที่ไหนคนก็ส่ายหน้าตามหลัง แต่ไม่มีใครกล้าชี้แนะ เพราะท่านถือว่าท่านเก่งที่สุดในโลกของท่านก็เลยต้องปล่อยให้ท่าน “เก่งในโลกเก่าของท่าน” ต่อไป
สำหรับเยาวชนไทยที่เป็นความหวังของชาติ ผู้มีหน้าที่เตรียมก็เตรียมไปเท่าที่จะสามารถทำได้ จะทำในลักษณะไหนก็ทำเถอะ ถือเสียว่าทำเพื่อชาติ อย่ามัวรีรอ หรือ ลังเล ที่จะช่วยกันคนละไม้คนละมือ ฝึกปรือเด็กในมือของท่านให้เป็นคนมีคุณภาพให้จงได้ โดยเฉพาะการสร้างผู้นำ เรามีความจำเป็นที่ต้องเร่งสร้างผู้นำที่ดี มีคุณภาพ มึคุณธรรมและมีภูมิปัญญา เพื่อให้สามารถเยียวยาประเทศชาติต่อจากเราได้อย่างถูกทิศ ถูกทาง
ท้ายนี้ ขอจบด้วยบทประพันธ์ที่ได้จากความอิ่มใจในการฝึกภาษาและพัฒนาภาวะผู้นำให้กับเด็กๆ ดังนี้
ผ่านไปแล้วหนึ่งงานสานบรรจบ ตามระบบใจจึงแจ่มแต้มความหวัง สร้างเยาวชนคนดีพลีพลัง ลงรากหยั่งรัดลึกฝึกฟันเฟือง เป็นคนดี เก่ง กล้า ของวันพรุ่ง เป็นเพชรรุ่งเลองามนามกระเดื่อง เป็นคนไทยรู้คิดตามความรองเรือง เป็นผู้นำบ้านเมืองด้วยปัญญา
ขอบคุณ “ผู้ใหญ่ใจดี” ที่มีส่วนในความสำเร็จและเป็นกำลังใจในการทำงานด้วยดีเสมอมา สวัสดีค่ะ 🙂
—————————————————————————
มุมชวนมอง ฉบับเดือนก่อนหน้านี้
พัฒนาเด็กไทยให้เก่งภาษา เพื่อความก้าวหน้าในสังคมอาเซียน (๒)
พัฒนาเด็กไทยให้เก่งภาษา เพื่อความก้าวหน้าในสังคมอาเซียน (๑)
การเตรียมตัวเข้าสู่สังคมอาเซียนในสังคมไทยตามที่เห็นและเป็นอยู่ในมุมมองของ“ครูระพีร์”ที่อาจไม่กว้างไกลเท่าใดนักพบว่า กระทรวงศึกษาธิการต้องรับศึกหนักในการเตรียมคนให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานเพียงพอต่อการสู้ศึกในสงครามมิตรภาพที่ดูเหมือนรักกันทั้งๆที่แข่งขันกันอยู่ตลอดเวลาในแวดวงอาเซียนและในสังเวียนชีวิตทั้งด้านการศึกษา สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
แม้ผู้เขียนจะรู้สึกว่า “ไม่ยุติธรรมเลย ที่จะโยนภาระและความคาดหวังในการพัฒนาคุณภาพของคนในอนาคตทั้งปวงมาให้ คนในวงการศึกษาโดยเฉพาะ “ครู” แต่เราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แม้จะหนักหนาสาหัสเพียงใด เราก็ต้องนำพาเด็กไทยให้สง่างามในสังคมอาเซียนให้ได้
จุดอ่อนของคนไทยในสังคมอาเซียนที่เด่นชัดที่สุดในเวลานี้มาจากจุดแข็งแห่งความภาคภูมิใจในเอกราชที่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใครแต่กลับกลายมาเป็นจุดอ่อนในขณะนี้ก็คือ การใช้ภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาสื่อสารอย่างเป็นทางการในสังคมอาเซียน
ผู้เขียน ไม่เห็นด้วยกับคำพูดของบางท่านที่บอกว่า เราไม่เก่งภาษาอังกฤษ “เพราะเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร พวกที่เคยเป็นเมืองขึ้นล้วนได้เปรียบทางภาษา ดังนั้นจะมาว่าเราไม่ได้นะ” ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว และเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “คนไทย บางกลุ่ม ไม่เก่งภาษาต่างชาติ แต่เก่งในเรื่องของการ “ใช้ของต่างชาติ ชาติไหนก็ได้ที่ไม่ใช่ของไทยเพราะของชาติไทยนั้นเชย”
ปัญหาด้านทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทย เป็นภาระที่หนักอึ้งมานานแล้วและยิ่งทบเท่าทวีคูณในยุคนี้ ผู้เขียน พอมีประสบการณ์ด้านการสอนภาษาอังกฤษอยู่บ้าง และมีมุมมองบางมุมที่ขอเสนอแนะเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบกัลยาณมิตร เพื่อพัฒนาภาษาอังกฤษให้ลูกหลานของเรา
ผู้เขียน สอนวิชาภาษาไทยในระบบราชการมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2526 เพราะรับราชการ กรมสามัญศึกษา กรุงเทพมหานคร ด้วยวิชาเอกภาษาไทย และวิชาโทภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(ปทุมวัน)มีประสบการณ์การสอนภาษาอังกฤษนอกเวลาราชการมาตั้งแต่ปี การศึกษา 2524 แต่เป็นการสอนพิเศษนอกระบบ เพราะในระบบสอนไม่ได้ เนื่องจาก “ไม่ได้จบวิชาเอกภาษาอังกฤษ” และก็สอนมาโดยตลอด จนถึงทุกวันนี้
ช่วง 30 ปี ที่สอนภาษาอังกฤษนอกระบบราชการผู้เขียนพบว่า “ปัจจัยร่วมสำคัญที่ส่งผลให้เด็กเก่งหรือไม่เก่งภาษามาจากผู้ปกครองเป็นอันดับแรก รองลงมาคือครูระดับอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 4 ” ปัจจัยอื่นๆ เป็นเพียงการต่อยอดตามเส้นพัฒนาของเด็กๆ เท่านั้น ถ้าหลังจากช่วงนี้ไปแล้ว หากจะทำให้เด็กเก่งภาษาก็ต้องใช้เวลาพัฒนาซ่อมและเสริมอย่างต่อเนื่องส่วนจะช้าหรือเร็วนั้นความพร้อมของผู้เรียนแต่ละคนจะเป็นตัวกำหนด ผู้เขียนสะสมข้อมูลจากการสังเกต พูดคุยและศึกษาเพิ่มเติม จึงพอมีตัวอย่างที่เป็นประสบการณ์ตรงในการพัฒนาทักษะทางภาษาอังกฤษให้กับเด็กๆ มากว่า 30 ปี เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ดังนี้
เด็กหญิงหนึ่ง มีคุณพ่อที่เก่งภาษาอังกฤษและชอบพูดภาษาอังกฤษกับลูก เวลาจะใช้ลูกไปซื้อของถ้ามีชื่อสินค้าเป็นภาษาอังกฤษ จะจดชื่อสินค้าเป็นภาษาอังกฤษหรือไม่ก็ให้เด็กหญิงหนึ่ง ท่องไปและถือกระดาษติดมือไปด้วยป้องกันการลืมเมื่อไปถึงร้านค้าเด็กหญิงหนึ่งภูมิใจและมีความสุขมากเมื่อสามารถบอกชื่อสินค้าเป็นภาษา อังกฤษได้ ก่อนนอนคุณพ่อของเด็กหญิงหนึ่ง จะร่วมกันร้องเพลงกับลูกๆ และเพลงที่ร้องจะเป็นเพลงภาษาอังกฤษแบบง่ายๆ โดยไม่ได้สนใจเลยว่า “สำเนียงจะถูกต้องหรือไม่เพราะคุณพ่อร้องเพลงด้วยหัวใจ”
เมื่อเด็กหญิงหนึ่งเข้าโรงเรียน ชั้นอนุบาล เด็กหญิงหนึ่ง พบครูประจำชั้นที่ดุมาก เพื่อนๆ ของนักเรียนชั้นอนุบาลทุกคน กลัวคุณครูท่านนี้และไม่อยากอยู่ในชั้นเรียนนี้ งอแง ไม่อยากไปโรงเรียน แต่เด็กหญิงหนึ่งแตกต่าง เธอไปโรงเรียน แต่เธอไม่เรียน เธอซน เธอวิ่งเล่นและ “ดื้อมาก” ถูกตีบ่อย “เธอด่าครู” ถูกตีซ้ำ “เธอก็ทำลายของและเก็บความรู้สึกคับข้องไว้ในใจดวงน้อย” เมื่อกลับบ้าน “เด็กหญิงหนึ่งเล่าเรื่องที่โรงเรียนให้พ่อฟัง และหลับไปพร้อมกับความสุขที่ได้จากการร้องเพลงภาษาอังกฤษง่ายๆ “โดยไม่ต้องกังวลว่า สำเนียงจะเหมือนหรือไม่” ตื่นเช้าวันใหม่ เด็กหญิงหนึ่งก็สดใส ร่าเริง พร้อมไปผจญภัยในชั้นอนุบาล เหมือนทุกวันเพราะมันมีวิชาหนึ่งที่เด็กหญิงหนึ่งอยากเรียนนั่นคือ “ภาษาอังกฤษ”
ในชั่วโมงเรียนภาษาอังกฤษ เด็กหญิงหนึ่ง ก็ต้องเรียนกับครูประจำชั้นที่แสนดุท่านนี้เหมือนเดิม และเธอสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข เพราะเธอมีภูมิคุ้มกันมาจากบ้าน เธอมีความมั่นใจเรื่องภาษาอังกฤษเท่าที่เด็กอนุบาลอย่างเธอจะเรียนรู้ได้ นอกจากนี้ เธอยังช่วยตอบคำถามหรือตะโกนอ่านเสียงลั่นห้องเพื่อไม่ให้ครูอารมณ์เสียเวลาเห็นเด็กๆ อ่านภาษาอังกฤษไม่ออก หรือไม่ให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรม
เมื่อเด็กหญิงหนึ่ง ขึ้น ป. 1 และพบกับคุณครูภาษาอังกฤษคนใหม่ นามสมมุติว่า ครู A ที่ดุมาก ดุจริงๆ เวลาเด็กๆอ่านไม่ได้ จะทั้งหยิก ทั้งตี หรือตบบ่าจนเสียงดังตึบๆ ไปทั้งห้อง เด็กทุกคนเรียนภาษาอังกฤษด้วยอาการขวัญหนีดีฝ่อ ไม่เว้นแม้แต่เด็กหญิงหนึ่ง
การสอนภาษาอังกฤษของ ครู A จะให้ผู้เรียนท่องศัพท์ เป็นประจำทุกวัน ถ้าใครไม่ท่อง เวลามาสอบกับครูหน้าห้องจะต้องถูกดุ ด่า ว่า ตี อย่างแน่นอน เพื่อนของเด็กหญิงหนึ่งบางคน พอถึงคิวที่ต้องออกไปท่องศัพท์กับครู A ถึงกับฉี่ราดไปด้วยท่องไปด้วยก็มี
แต่….ครู A มีสเน่ห์การสอนอย่างหนึ่ง ที่เด็กๆ ได้ติดตัวมาก็คือ การอ่านสะกดคำภาษาอังกฤษ ครู A จะเน้นให้เด็กๆ ท่องจำให้ได้ว่า เสียงภาษาอังกฤษแต่ละตัวนั้นตรงกับเสียงพยัญชนะตัวใดในภาษาไทย และให้เด็กฝึกอ่านภาษาอังกฤษโดยการเทียบเคียงกับภาษาไทยจับคู่เสียงและแกะเสียงออกมาด้วยตัวของเด็กเอง
แม้ว่า ครู A จะดุ จะอารมณ์ร้อน ตีหนักและเจ็บ แต่มีสิ่งหนึ่งที่วิเศษที่สุดของครู A ก็คือ “ครู A ทนได้ และใจเย็นพอ ต่อการ รอ ให้เด็กสะกดคำในใจและอ่านออกเสียงมาได้ด้วยตนเอง ถ้าเด็ก สะกดคำในใจ และอ่านออกมาได้ด้วยตนเอง ครู A จะให้รางวัลด้วยคำชม หรือขนมทันที จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไม เด็กๆ ของ ครูA จึงสามารถอ่านภาษาอังกฤษตามระดับของตนได้ทุกคน แต่ในส่วนคำศัพท์ที่ ครู A ให้เด็กๆ ท่องอย่างไรก็ไม่มีพัฒนาการที่ดีขึ้น นอกจาก ความรู้เรื่องการสะกดคำที่ตกผลึกและฝังแน่นเป็นทักษะให้เด็กหญิงหนึ่งมาจนกระทั่งขึ้นชั้น ป.สอง
เด็กหญิงหนึ่ง ขึ้น ป.2 แล้วนะคะ ทำอย่างไรดีล่ะ หน้ากระดาษไม่พอแล้ว อ่านต่อฉบับหน้าก็แล้วกัน เรื่องเล่านี้ นำมาจากเรื่องจริง เมื่อ 25 ปีก่อนนะคะ ยังมีอีกหลายมุมเกี่ยวกับประสบการณ์ทางภาษาของเด็กๆ จะค่อยๆทยอยเล่าสู่กันฟังนะคะ ช่วงเวลานี้ “ครูระพีร์” ว่า คุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครอง ที่ลูกยังเล็ก ลองทบทวนตัวเองกันหน่อยดีไหมคะว่า ท่านมีวิธีการ ส่งเสริมให้ลูกเก่งภาษาต่างประเทศได้ง่ายๆ และมีความสุขภายในครอบครัวได้หรือไม่คะ ไม่ต้องแพงหรอกค่ะ เรียนภาษาน่ะ พ่อแม่ทำได้อยู่แล้ว นอกเสียจาก ท่านจะคิดว่า “เวลาเป็นเงินเป็นทอง เป็นของมีค่า หาเงินดีกว่ามาเสียเวลาให้ลูก” ก็แล้วแต่ท่านนะคะ
ฉบับหน้ามาดูกันนะคะว่า “ครู ป.2 ของเด็กหญิงหนึ่ง จะเป็นอย่างไร เด็กหญิงหนึ่ง จะรักษาความสามารถทางภาษาไว้ได้หรือไม่ ครู ป.2 ของเด็กหญิงหนึ่ง จะเป็นผู้ สร้างสรรค์หรือทำลายทักษะที่เด็กมีติดตัวมาหรือไม่อย่างไร พบกันใหม่ในฉบับหน้านะคะ … สวัสดีค่ะ
*****************************
อ่านต่อตอนที่ ๒ 🙂
รายงานตัวค่ะ
5/9 31
สไตล์การเขียนเล่าเรื่อง (เน้นประชดเสียดสีนิดๆ) อ่านสบายๆ เน้นในสิ่งที่ต้ิองการเน้น กำลังคิดว่าครูแแหม่มเล่าเรื่องตัวเองอยู่ (นะเนี่ยะ)