“โชคดีที่ลูกเรียนเทคนิค”
ผู้ปกครอง ศิษย์เก่าของผู้เขียนท่านหนึ่ง เล่าเรื่องลูกให้ฟัง ด้วยความภาคภูมิใจว่า
“อาจารย์คะ เชื่อไหมคะ ว่าลูกหนูน่ะ เรียนได้เกรดตั้ง 3.5 แน่ะ”
น้ำเสียงของผู้เป็นแม่แสดงถึงความปลื้มใจอย่างเต็มเปี่ยม เธอพูดพร้อมกับปรายตาไปยังลูกชายวัยรุ่นที่กำลังเดินมาสมทบ ผู้เขียนแซวกลับไปว่า
“เฮ้ย เป็นเพราะเด็กเทคนิคไม่เก่งหรือเปล่า เอ็งถึงได้เกรดสูงน่ะ หรือว่า อาจารย์เขาปล่อยเกรดล่ะ”
“โฮ ! จาร์ย์….ไม่หรอก เพื่อนผม ตกกันตั้งเยอะ ไอ้พวกไม่ตั้งใจเรียนนะอาจารย์เขาไม่ปล่อยเกรดหรอก ผมทำได้จริง ๆ”
“อ๋อ เหรอ แล้วทำไม ตอน ม.ต้น ครูเห็นแม่แกปวดหัวกับแกตลอด ยิ่งตอน ม. 3 ล่ะก็ แม่แกเนี่ยนะ ทำทุกวิถีทางเลย ที่จะให้แก เข้าเรียนต่อ ม.4 โปรแกรมวิทย์-คณิตให้ได้ จนแทบจะตีกันตาย…”
“โอ๊ย อย่าไปว่ามันเลยค่ะ อาจารย์ เป็นที่หนูเองแหละ ไม่เข้าใจลูก ดีนะว่าลูกมันไม่ยอม มันรั้นที่จะเข้าเทคนิคให้ได้ สุดท้ายหนูก็ต้องยอมลูก ปล่อยให้เขาเรียนตามใจชอบ…แล้วก็ดีนะคะอาจารย์ ไม่ต้องเขี้ยวเข็ญ ไม่ต้องบ่นว่า เขาก็ตั้งใจเรียนดี อย่างอื่นก็ดีตามไปด้วย หนูสบายใจแล้วค่ะ…ลูกหนูไม่เกเรแล้ว..ขอบคุณอาจารย์นะคะที่เข้าใจลูกหนูมาโดยตลอด”
บทสนทนาในเวลาสั้น ๆ นี้ ทำให้ผู้เขียนรู้สึกมีความสุขไปกับแม่ลูกคู่นี้ด้วย
ครั้งหนึ่ง คุณแม่คนนี้ เคยปรับทุกข์ถึงการเรียนของลูกชายมาโดยตลอด เธอไม่เคยพอใจกับผลการเรียนของลูกเธอเลยสักครั้ง ตอนที่อยู่ ม.ต้น เนื่องจากลูกชายมีผลการเรียนในวิชาหลัก ไม่ดีเลยสักวิชาเดียว แต่ก็ไม่ถึงกับตก เธอพยายามให้ลูกเรียนพิเศษ ลูกก็หนีเที่ยว เล่นเกม และโดดเรียน ด้วยเหตุผลว่า “เบื่อ” “เรียนไปก็ไม่รู้เรื่อง”
พอจบ ม.3 เขาไม่สามารถเรียนต่อ โรงเรียนเดิมได้ เนื่องจาก เกรดเฉลี่ยไม่ถึง คุณแม่ กลุ้มใจมาก นำเรื่องมาปรึกษา ผู้เขียนจึงชี้นำให้คุณแม่คิด ทบทวน ว่าสิ่งที่ตนเองต้องการน่ะ ใช่ความต้องการของลูกหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ ลูกเขาไม่อยากเรียนต่อ ม.4 เพราะเขากลัวเรียนไม่ไหว
ส่วนแม่ ก็ไม่อยากให้ลูกเรียนเทคนิค เพราะกลัวลูกเกเร
ผู้เขียนในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจึงตั้งคำถามให้ทั้งคู่ตอบ ดังนี้
ไอ้หนู….
“เอ็งอยากเรียนต่อ ม.4 ที่เดิม หรือว่าอยากไปต่อเทคนิค”…………. “เทคนิคครับ”
เอ็งอยากไปเรียนเทคนิค เพราะเพื่อนเอ็งไปหรือเอ็งอยากไปเอง”……………….. “อยากไปเองครับ”
เอ็งคิดว่า เอ็งเรียนที่เทคนิคแล้ว เอ็งจะเรียนจบไหม”……. “จบครับ”
“เออ ! ครูเชื่อ เอ็ง”
น้อง (หมายถึงคุณแม่ของเด็ก)
“ใครคือคนที่จะเรียนต่อ”……… “ลูกหนูค่ะ”
“ ลูกของน้อง เป็นคนเกเรหรือไม่” …….. “ไม่ค่ะ”
“น้อง มีเวลา ดูแลลูกหรือไม่”……. “มีค่ะ”
“เลี้ยงลูกมาหลายปีแล้ว รู้ใจลูกดีไหม”… “พอรู้ค่ะ”
“คิดว่า ถ้าลูกเรียนที่เดิมแล้ว ลูกจะเรียนดีขึ้นไหม”
“ไม่แน่ใจค่ะ…ถ้าจะยาก”
ฯลฯ
การสนทนาในวันก่อนการตัดสินใจเรียนต่อของนักเรียนคนนี้ ผู้เขียนไม่เหนื่อยในการคุยกับเด็ก เพราะความรู้สึก นึก คิด ของเด็ก ไม่ซับซ้อน สื่อสารชัดเจน แต่กลับต้องใช้เวลานานพอสมควรที่จะคุยให้ผู้ปกครองยอมรับให้ลูกเรียนต่อในสถาบันที่เป็นความต้องการของลูก
ผู้เขียนไม่ได้ตัดสินใจให้เขาในวันนั้น เพียงแต่ชี้แนะให้เขาไปคุยกันใหม่ ตั้งสติให้ดี อบรมเด็กไม่ให้โต้เถียงแม่ อบรมแม่ไม่ให้ใช้อารมณ์กับลูก ให้คุยกันดี ๆ
คุยกันด้วยเหตุผล ไม่ใช่ด้วยอำนาจของความเป็นผู้ปกครอง และไม่ใช่ด้วยความถือดี ดื้อรั้น ของวัยรุ่น ไม่เช่นนั้น ทั้งสองคนจะถูกครูเล่นงานทั้งคู่
วันต่อมา เสียงโทรศัพท์ ดังขึ้น น้ำเสียงที่เปี่ยมไปด้วยความดีใจบอกมา ปลายสายว่า
“ผมได้เรียนเทคนิคแล้วครับ ‘จาร์ย…แม่ปล่อยผมแล้ว…ขอบคุณคร้าบบบบ….จาร์ย”
“เออ ไม่ต้องลิงโลด เลยเอ็ง…แล้วทำตัวดี ๆ ล่ะ อย่าให้รู้นะ ว่าเกเร…เอ็งจะโดนทั้งแม่และครูเลยนะ..เอ็ง ของคุยกับแม่เอ็งหน่อย”
“อาจารย์คะ หนูปล่อยมันแล้วละค่ะ หนูขี้เกียจทะเลาะกับมัน ปล่อยมันแล้ว มันจะเรียนอะไรก็ปล่อยมัน”
“อืม ดีแล้วละ…อย่าคิดมากเลยนะ ลูกเราไม่ใช่คนเกเร..ดูแลเขาดี ๆ ล่ะ”
เวลาผ่านไปหนึ่งปี ลูกชายมีผลการเรียนดีมาก เป็นที่ปลื้มใจของคุณแม่และมีความสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย
ภาพแบบนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า เป็นภาพที่เวียนวนซ้ำไปซ้ำมาในบทเดิม ๆ เพียงแต่เปลี่ยนผู้แสดงเท่านั้น ครูหลายคน ล้วนมีประสบการณ์อย่างที่ผู้เขียนมีในบางครั้ง ครูอย่างพวกเรา ก็มักเอาใจช่วยนักเรียนที่ต้องเรียนตามใจพ่อแม่ ให้เขามีความสุข ได้คะแนนดี ๆ และสามารถเรียนต่อไปจนจบ
แม่ลูกคู่นี้ เป็นตัวอย่างของการยอมแพ้ของแม่ต่อความต้องการของลูกในทางที่ถูกต้อง อย่างมีสติ มีการตัดสินใจที่รอบคอบ แม้จะต้องฝืนความต้องการของตนเองก็ตาม
สถานศึกษา ไม่ว่าจะมีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่นิยมของบุคคลทั่วไปมากน้อยแค่ไหนก็ตาม หากนักเรียนที่เข้ามาเรียน….ไม่เก่ง…ครูเก่งแค่ไหน….ก็ไม่สามารถสร้างนักเรียนให้เก่งขึ้นได้ภายในสามปี หรือ หกปี ความดี ความไม่ดี ความเก่ง หรือความไม่เก่ง ที่สั่งสมอยู่ในตัวคนเรานั้น ล้วนเกิดจากการหล่อหลอม สั่งสมมาอย่างต่อเนื่องตลอดทุกช่วงของลมหายใจเข้าออก
นักเรียนจะดีหรือไม่ดี พ่อแม่ ครอบครัว ที่เลี้ยงดูกันมาต่างหากที่มีส่วนสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนโรงเรียนและครู เป็นเพียงผู้เติมเต็ม ขัดเกลาให้เขาเติบโตเต็มเป็นคนดีของสังคม่ต่อไป
ดังนั้น เปิดเทอมใหม่นี้ ขอให้ผู้ปกครอง เอาใจใส่ดูแล บุตรหลานของตนเองให้ดี เพื่อที่ครูจะได้ต่อยอดความดีของเขาได้ อย่าให้ครูเสียเวลาในการซ่อมนิสัยเสียมากกว่าการเสริมนิสัยดีให้แก่พวกเขา
เพราะถ้าท่านดูแลลูกมาดี รับรองว่า ครูไม่ทำให้ลูกของท่านเสียแน่นอน…..และถึงแม้ว่าลูกท่านจะไม่ดี จะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่….ครูก็ไม่ทอดทิ้งลูกของท่านเช่นกัน ….ขอเพียงแต่….ให้ท่าน….”รู้จัก…และ รักลูกให้ถูกทางเท่านั้น”