ภาษาดี อยู่ที่พ่อแม่ (ต่อจากฉบับที่แล้ว)
น้ำเสียงและถ้อยคำนำพาความรู้สึก
จากทารกน้อย ไร้เดียงสาสู่หนูน้อยช่างเจรจา นับเป็นช่วงเวลาที่น่ารักที่สุดของเด็ก พ่อแม่จะรู้สึกสุขใจเป็นที่สุด เมื่อได้พูดคุยกับลูกรักที่ตอบโต้ ทุ่มเถียงด้วยสำเนียงธรรมชาติ บริสุทธิ์ทั้งความคิดและการกระทำ ซึ่งไม่ว่าจะถูกหรือผิดล้วนน่าเอ็นดูไปหมดเด็กๆ วัยหัดพูด จะสังเกตพฤติกรรมการพูดของคนรอบข้าง เขาเลือกที่จะเลียนแบบถ้อยคำและการกระทำที่เจ้าตัวคิดว่าจะได้รับการตอบสนองที่ดี หรือไม่ก็ทำตามที่ได้รับการสั่งสอนจากผู้ใหญ่ ซึ่งดูเหมือนว่าสิ่งที่เด็กสัมผัสอยู่ทุกวันจะมีผลต่อพัฒนาการด้านการพูดของเด็กมากกว่าการสั่งและสอน ดังนั้น เราจึงพบว่า คำสั่งสอนของคนในครอบครัวที่บอกว่า“พูดดี ๆ สิคะลูก” “พูดเพราะๆ สิครับ” ซึ่งโดยปกติคนในครอบครัวไม่ได้ปฏิบัติเช่นนั้น จึงไม่ได้ผล
บางครอบครัว พูดเพราะมาก พูดเพราะเกินไป มีการสกัดกั้นคำหยาบทุกประเภท จนเด็กรู้สึกเก็บกด ต่อต้าน และจะพูดคำหยาบทันทีเมื่ออยู่นอกบ้าน ด้วยเหตุนี้ เราจึงมักพบเห็นเด็กที่ได้รับการอบรมอย่างดี ขณะอยู่ที่บ้านมักจะกล่าวคำสบถหรือพูดจาหยาบคายได้ดังและแรงกว่าเด็กทั่วไป ซึ่งสามารถพบได้ในทุกโรงเรียน
สำหรับครอบครัวที่มีบรรยากาศการเจรจาที่ดี มีความเป็นธรรมชาติ เป็นไปตามสภาพจริงของชีวิต ใช้ถ้อยคำตามความรู้สึก ด้วยความระมัดระวังในการใช้ภาษา รู้จักการขอโทษ เมื่อต้องกล่าววาจาที่ไม่สุภาพ หรือแสดงความวิตกกังวลด้วยภาษาท่าทางเมื่อพลั้งเผลอพูดคำหยาบให้เด็กได้ยิน เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้ว่าสิ่งใดควรพูดสิ่งใดไม่ควรพูดและเมื่อพูดในสิ่งที่ไม่ควรพูดแล้วเขาควรจะแสดงออกอย่างไร ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมแบบนี้ เขาจะเป็นคนที่รู้จักพูด รู้จักกาละเทศะ รู้จักขอโทษเมื่อคำพูดของตนทำให้ผู้อื่นรู้สึกไม่ดีและไม่มีนิสัยทำร้ายผู้อื่นด้วยการพูด
โดยทั่วไป เราจะพบคนที่มีทักษะการพูดสองลักษณะ คือ คนพูดจาฉาดฉาน กับคนพูดจา จัดจ้าน
คนพูดจา ฉาดฉาน นั้น น้ำหนักของการพูดอยู่ตรง
ถ้อยคำที่เจรจาออกมา คล่องแคล่ว ว่องไว ถูกต้อง ตรงจุดและถูกใจ ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกตอบสนอง กระตุ้นพลังคิดได้ทั้งด้านบวกและด้านลบ การสื่อสารเชิงบวกน้ำเสียง ถ้อยคำและเนื้อความจะมีอิทธิพลในการโน้มน้าวให้เกิดความรู้สึกคล้อยตามและรื่นรมย์ใจ ในทางกลับกันหากเป็นการสื่อสารเชิงลบ น้ำเสียง ถ้อยคำและเนื้อความก็จะเชือดเฉือนไปจนถึงก้นบึ้งของหัวใจแม้เป็นการพูดเพียงไม่กิ่วินาทีก็สามารถทำให้ผู้ฟังเจ็บแค้นและจดจำไปนานบางคนถึงขนาดจดจำไปชั่วชีวิตเลยก็มี
คนพูดจา จัดจ้าน น้ำหนักของการพูดอยู่ตรงท่วงที วาจา กริยาและถ้อยคำที่แสดงออกตามอารมณ์ การใช้ถ้อยคำจะตอบสนองอารมณ์ของผู้พูดมากกว่า ภาษาที่ใช้ไม่ค่อยนุ่มเนียนเพราะมักขาดสติในการเจรจา คนพูดจาจัดจ้าน ไม่ค่อยคำนึงถึงความรู้สึกของผู้ฟังเท่าไรนัก เป็นการพูดเพราะอยากพูด และมักพูดถึงผู้อื่นในด้านลบเสมอ
คนจัดจ้าน จะแสดงบทบาทด้านการพูดบ่อยกว่า คนฉาดฉาน เพราะคนพูดจาจัดจ้าน ใช้อารมณ์และความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ในการวิพากษ์วิจารณ์และใช้ภาษาคุกคามผู้อื่น คนฉาดฉาน จะใช้ปัญญาและปฏิภาณทางภาษาซึ่งสามารถนำภาษามาเป็นอาวุธ ในการป้องกันตนเองและต่อสู้กับผู้อื่นแต่จะไม่ใช้ภาษาคุกคามใครก่อน
เราอยากให้ลูกหลาน เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ ฉาดฉาน หรือ จัดจ้าน ก็คงต้องดูที่บรรทัดฐานของชีวิตแล้วละค่ะว่า ต้นตอของเด็ก คือครอบครัวเรานั้นน่ะ จัดได้ว่าเป็นคนฉาดฉาน หรือว่า จัดจ้าน เพราะลูกไม้น่ะ มันมักหล่นไม่ไกลต้นหรอกนะคะ อย่าบอกนะคะว่า ขอเลือกให้ลูกไม่พูดดีกว่า เพราะสังคมสมัยนี้ ไม่พูดไม่ได้แล้วค่ะ โดยเฉพาะคนมีสติปัญญา ต้องออกมาพูดนะคะ มิฉะนั้น จะถูกนักพูดที่ด้อยทั้งสติและปัญญาครอบงำ และครอบครองโดยปรปักษ์ เมื่อถึงเวลานั้นจริง ๆ เราอาจจะพูดไม่ได้แล้วล่ะค่ะ เพราะ น้ำท่วมปาก และ อย่าลืมที่ท่านสุนทรภู่เตือนไว้นะคะว่า
“ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์
มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้พูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา
“สวัสดีค่ะ”