แฟชั่น……วิชาการ
ผู้เขียนได้เสนอแนวคิดในหัวข้อ “ถ้อยคำภาษานำพาความรู้สึก ไปแล้วในฉบับก่อนหน้านี้ โดยยกประเด็นเปรีบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างคำว่า ฉาดฉาน กับ จัดจ้าน ซึ่งการพูดทั้งสองลักษณะนี้ให้คุณและโทษต่อผู้พูดต่างกัน
ความฉาดฉาน และความจัดจ้าน จะสังเกตได้ง่ายในผู้พูดที่เป็นเด็ก เพราะเด็กมักพูดและแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เขาไม่รู้หรอกว่าอย่างไหนคือฉาดฉานและอย่างไหนคือจัดจ้าน เป็นเรื่องที่ ผู้ใหญ่ที่พบเห็นเป็นผู้ตัดสินและควรชี้แนะเมื่อพบว่าเด็กแสดงความจัดจ้านออกมา
เด็กที่พูดจาฉาดฉาน จะได้รับความชื่นชมจากคนรอบข้างบ่อย ๆ ทั้งทางตรงคือด้วยคำชม เช่น “พูดเก่งจังเลย” “ช่างพูดเหลือเกินนะเราน่ะ” “ดูสิ ตัวแค่นี้ รู้จักต่อรองแล้ว”เป็นต้น หรือความชื่นชมทางอ้อมด้วยภาษาท่าทาง สายตาและอากัปกิริยาตอบสนองเชิงบวกส่งผลให้เกิดความมั่นใจในตนเองและพัฒนาสู่การเป็นบุคคลที่มีภาวะผู้นำในอนาคต
คนที่พูดจาจัดจ้าน เมื่อยังเป็นเด็กจะได้รับความชื่นชมจากคนรอบข้างเช่นกัน ต่างกันตรงที่ ในคำชมนั้นจะมีความหมายเชิงตำหนิอยู่ด้วย เช่น “ พูดมากจริง ๆ ตัวแค่นี้” “แสบเหลือเกินเด็กคนนี้” “ดูสิเป็นเด็กเป็นเล็กเถียงคำไม่ตกฟาก” หรือความชื่นชมทางอ้อมด้วยภาษาท่าทาง สายตาและอากัปกิริยาเชิงลบ เช่น ส่ายหน้าในขณะที่พูด แต่ก็แฝงไว้ด้วยความเอ็นดู เพราะถือว่าผู้พูดยังเด็ก เด็กที่พูดจาลักษณะนี้ สามารถกล่อมเกลาได้ ถ้าผู้ใหญ่ไม่เพลินไปกับความกล้าจนเกินงามของเด็ก และชี้แนะด้วยความเมตตา ไม่ใช่ดุด่าว่ากล่าวจนเด็กขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ควรสั่งสอน ชี้นำ ด้วยเหตุผลหรือการกระทำที่เป็นตัวอย่างที่ดี เขาก็จะเติบโตเป็นนักพูดที่มีคุณภาพของสังคมเช่นกัน
เด็กที่พูดจาฉาดฉาน กับ เด็กที่พูดจาจัดจ้าน เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น ถ้าดูแลไม่ดีอาจมีปัญหาได้ เพราะวัยนี้ เป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่มีผลกระทบถึงอารมณ์และจิตใจ เด็กที่เคยพูดเก่งทั้งฉาดฉานและจัดจ้านอาจจะไม่อยาก
แสดงออกด้วยการพูดและเลือกที่จะเก็บพฤติกรรมด้านนี้ไว้เหตุเพราะสูญเสียความมั่นใจในตนเองเนื่องจากสับสนในสภาวะที่เปลี่ยนไปทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และความคิด คนรอบข้างจึงมีความจำเป็นที่จะต้องรู้จักสังเกตและจัดประสบการณ์ให้มีโอกาสได้ใช้ความสามารถด้านการพูดบ่อย ๆ ซึ่งหน้าที่ในระดับนี้คงต้องพึ่งคุณครูทุกคนในโรงเรียน
ความฉาดฉานและความจัดจ้าน จะกลับมาอีกครั้งเมื่อผู้พูดทั้งสองลักษณะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ต้นทุนเดิมที่เก็บเอาไว้จะสามารถนำออกมาใช้ได้เต็มที่เพราะมีประสบการณ์มีความกล้าและมีวัตถุประสงค์ในการพูดเพิ่มขึ้นตามสถานภาพ และเมื่อมีอายุมากขึ้น ทั้งความฉาดฉานและความจัดจ้านจะมารวมอยู่ในตัวคนเดียวกัน
คนที่พูดจาฉาดฉานจะกลายเป็นคนจัดจ้านขึ้นมาทันทีถ้าพูดด้วยอารมณ์ที่เต็มไปด้วยอคติ ทิฐิและความต้องการเอาชนะ ในขณะที่ คนจัดจ้าน ก็อาจกลายเป็นคนฉาดฉานขึ้นมาได้ในฉับพลัน ถ้าครองสติอยู่และใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์
ไม่ว่าจะเป็นการพูดลักษณะใด ล้วนมีผลกระทบต่อผู้ฟังในสังคมนั้นๆ ทั้งสิ้น คนที่พูดเก่งสามารถชี้นำสังคมได้สังคมจะดีถ้าคนที่พูดเก่งนั้นเป็นคนดีมีจิตสำนึกที่สร้างสรรค์ และสังคมจะเสื่อมก็เพราะคนพูดเก่งขาดจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง
ในบ้านเมืองเราทุกวันนี้ มีคนพูดเก่งๆ ปรากฏตัวอยู่มากมายเราจะได้ฟังทั้งความฉาดฉานและความจัดจ้านผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาพูดทั้งทางสถานีวิทยุชุมชนและ ทางสถานีโทรทัศน์ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้ เราในผู้ฟังอย่างเราจึงต้องใช้วิจารณญาณในการฟังและการชมเป็นอย่างมาก อย่าปล่อยให้การหลงใหลในลีลาออดอ้อน หรือเผ็ดร้อนเข้าครอบงำทำให้อารมณ์ของเราหวั่นไหวจนขาดปัญญาในการพิจารณาข้อมูลข่าวสารที่ได้รับเพลินไปกับผลประโยชน์ที่เขาเสนอเพื่อล่อหลอกหรือมันไปกับข้อมูลที่เป็นเรื่องส่วนตัวของผู้ที่ถูดพาดพิง เราควรที่จะฟังและดูการกระทำของผู้พูดให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อ ดูนานๆ คิดให้รอบคอบ ดูที่การกระทำเป็นสำคัญ เพราะความคิดที่ออกมาทางวาจา ใคร ๆ ก็สามารถแสดงออกได้ แต่การกระทำนั้นถึงแม้จะเป็นการเสแสร้งก็จะไม่สามารถเสแสร้งได้ตลอด เพราะการกระทำจะสัมพันธ์กับเจตนาของมนุษย์ จริงใจหรือไม่จริงใจสักวันก็ต้องแสดงออกมาตามเจตนาดั้งเดิมหรือสันดานดิบจนได้
เพราะฉะนั้น คนในสังคมจึงควรใช้สติปัญญาไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนตัดสินใจเชื่อใคร ดูเขาไปนานๆ หรือย้อนดูภูมิหลังบ้างก็ได้ว่าคนที่เรากำลังเชื่อนั้นมีการกระทำที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วยสำนึกเพื่อส่วนรวมที่แท้จริงหรือไม่หรือว่า สักแต่ว่าพูดได้ พูดเก่ง พูดเป็น แต่ทำไม่ได้ ทำไม่เก่งและทำไม่เป็น ถึงเวลาที่เราจะต้องเลือกข้างระหว่างคนที่ พูดได้ พูดเก่ง พูดเป็นแต่ทำไม่จริง กับคนที่พูดในสิ่งที่ทำได้ และทำในสิ่งที่ได้พูดเพื่อพิสูจน์คุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ที่ดีของสังคม ณ จุดนี้ไม่มีสีให้เลือกแต่มีสมองให้พิจารณาว่า เราจะเลือกเชื่อสมองของใครระหว่างคนที่ พูดจริง ทำจริง กับคนที่ หาความนิยมเพื่อสะสมแต้มไว้ต่อรองในสนามสังคมอยู่เสมอ แล้วอย่าลืมนะคะว่า
การกระทำบอกเจตนา..วาจาบอกความคิด
“สวัสดีค่ะ”
โดย นางระพีร์ ปิยจันทร์
ที่มา:
สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมายค่ะ